top of page
Search

ถอดรหัสบทสวดมนต์เพื่อชัยชนะ


บทพาหุงมหากาคือบทสวดมนต์ที่สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว ได้ถวายให้ “พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ไว้สวดเป็นประจำเวลาอยู่กับพระมหาราชวังและในระหว่าง “ศึกสงคราม” และเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจ้ามีชัยชนะในทุกครั้งที่ทรงรบ บทสวดนี้ถูกนำมาเผยแพร่โดยหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม วัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ที่ได้นิมิตถึงสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าสวนแก้ว ได้มาบอกให้ท่านไปวัดใหญ่ชัยมงคลเพื่อดูจารึกที่ท่านได้จารึกไว้เพื่อถวายพระเกียรติแก่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผู้เป็นเจ้า


ชาวพุทธหลายคนอาจถูกบอกกล่าวสั่งสอนให้ท่องและสวดบทนี้มาโดยตลอด โดยเชื่อว่าเป็นบทที่เสริมสิริมงคลแก่ชีวิต และจะทำให้มีชัยชนะเหนือศัตรูทั้งปวง ในบทสวดจะแบ่งออกเป็น 9 บท โดยใน 8 บทแรกจะเล่าถึงชัยชนะของพระพุทธองค์ที่มีต่อศัตรูต่างๆ และบทสุดท้ายบอกกล่าวถึงคุณประโยชน์หากเราได้สวดบทนี้เป็นประจำ


ตัวพี่บัวเองเป็นคนนึงที่สวดมนต์นี้มาโดยตลอดตั้งแต่เด็กๆ อาจมีหยุดไปบ้างตามความขี้เกียจและความหลงไปตามช่วงวัย แต่เมื่อกลับมาสวดเป็นประจำอีกครั้งก็ยังไม่คลายความสงสัยว่าบทสวดนี้จะช่วยเราได้อย่างไร จนวันนึงในขณะที่สวดไปอ่านคำแปลไป ก็ได้มองเห็นถึงรหัสบางอย่างที่ตัวเองเชื่อว่าคือเคล็ดลับที่ซ่อนเอาไว้อยู่ในบทสวดนี้ เลยอยากนำมาแบ่งปันกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขอออกตัวก่อนนะคะว่าไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางพุทธศาสนา เป็นแค่การตีความตามความเข้าใจจากพื้นความรู้เดิมที่มีและการบอกเล่าเพิ่มเติมจากครูอาจารย์ภายใน หากมีสิ่งใดที่ผิดพลาดก็พร้อมน้อมรับคำแนะนำค่ะ


มาต่อกันค่ะ จากคำแปลในบทพาหุง หากอ่านผ่านๆจะเหมือนกับเป็นการสรรเสริญความเป็นเลิศของพระพุทธเจ้าที่ท่านสามารถเอาชนะจอมมารหรือความชั่วร้ายต่างๆมาได้ ไม่ว่าจะเป็นพญามาร ช้างนาฬาคีรีที่ถูกหลอกใช้จากพระเทวทัต องคุลีมาล นางจิญมานวิกา สัจจกพราหมณ์ ยักษ์อาฬวกะ พญานาค หรือพกาพรหม เรียกได้ว่าตั้งแต่เทพ พรหม มาร นาคหรือเดียรัจฉาน ท่านก็สามารถเอาชนะได้ทั้งหมด แต่พอเราลองมาอ่านรายละเอียดของเรื่องราว และความพิเศษของแต่ละเคสกัน เราจะเห็นได้ว่า"มารผจญ"ต่างๆที่ปรากฏในบทสวด ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเดียวกันกับที่มนุษย์อย่างพวกเราได้พบเจอกันในชีวิตประจำวัน เรามาลองไล่ดูไปด้วยกันนะคะ


เริ่มจากบทแรก พญามารขี่ช้างครีเมขละมารังควานเพื่อขับไล่พระพุทธองค์ที่กำลังจะตรัสรู้ โดยอ้างว่าพื้นที่พระองค์นั่งเป็นของตน และนำพยานคือบริวารของตัวเองมาเป็นพยานเท็จ สิ่งที่พระพุทธเจ้าทำคือการระลึกถึงทานบารมีที่ท่านได้บำเพ็ญมาในทุกภพทุกชาติผ่านการกรวดน้ำมาสู้ จนเกิดปาฏิหาริย์ที่บางตำนานบอกว่าเกิดแผ่นดินไหวจนช้างและมารต้องหมอบ หรือบางตำนานกล่าวว่าแม่พระธรณีขึ้นมาบีบมวยผมที่ชุ่มไปด้วยน้ำจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงกรวดมาโดยตลอดจนทำให้น้ำท่วม และนั่นทำให้พญามารต้องล่าถอยไป

(ถอดรหัส) ในชีวิตของเราทุกวันนี้ เราอาจต้องเผชิญกับคนที่มีอำนาจมากกว่า (เหตุเกิดตอนที่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรัสรู้) เราอาจเจอกับความไม่เป็นธรรมจากการสร้างพยานเท็จ หรือการเล่นพรรคแบ่งฝ่าย แต่สิ่งที่ช่วยเราได้คือ ความจริงที่แท้ (การกรวดน้ำแผ่บุญ) การให้อย่างต่อเนื่อง (การอุทิศข้ามภพข้ามชาติ) การทำสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง แม้ไม่มีคนเห็นหรือใครจำได้ แต่ถ้าเราทำอย่างต่อเนื่อง สิ่งนั้นจะกลายเป็นความจริงติดตัวที่จะมาเป็นเกราะป้องกันเราในท้ายที่สุดนั่นเอง


บทที่สอง เมื่อพระพุทธองค์ต้องเผชิญหน้ากับยักษ์อาฬวกะผู้ดุร้าย หยาบคาย ไม่รู้บุญคุณคน ไม่รู้จักพ่อแม่ ไม่รู้บุญคุณครู ไม่รู้จักถูกผิด มีแต่คำด่าทอหยาบคาย แต่สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงนำมาใช้เพื่อรับมือกับยักษ์ตนนี้ คือขันติบารมี ที่ไม่โกรธ ไม่กลัว และไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรง จนยักษ์เกิดความสงสัยและได้สนทนาธรรมจนเลื่อมใสศรัทธา

(ถอดรหัส) ชีวิตเราอาจต้องเจอคนที่มีค่านิยมในการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากเราจนสุดขั้ว และนั่นอาจทำให้เรารู้สึกอึดอัดใจ กลัว รังเกียจ จนตอบโต้ไปด้วยพฤติกรรมที่ไม่ต่างกัน แต่หากเราไม่กลัว และใช้อดทนที่จะไม่โต้ตอบ มีเมตตาที่จะทำความเข้าใจและแบ่งปันสิ่งที่เราพอจะทำให้ ความเมตตานั้นจะละลายความแข็งกระด้างในใจจนทำให้แม้แต่คนที่หยาบคายที่สุดในโลกรู้จักความอ่อนโยน


บทที่สาม พระเทวทัตคู่ปรับตลอดกาลของพระพุทธเจ้ามอมเหล้าช้างนาฬาคีรี (บางตำนานบอกว่ากำลังกลัดมัน) ทำให้ช้างที่ดุร้าย ไม่มีสติ พุ่งเข้ามาทำร้ายผู้คนและจะทำร้ายพระพุทธองค์ แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้หลบหนี และรู้โดยญาณว่าช้างทำไปจากสัญชาตญาณที่ปราศจากสติ ท่านจึงกล่าวคำพูดและส่งกระแสเมตตาตรงเข้าไปที่หัวใจของช้างที่กำลังดุร้ายให้คลายความตกใจและสงบลงได้โดยไม่ทำร้ายใคร

(ถอดรหัส) หลายครั้งเราก็ต้องต่อสู้กับผู้คนที่ถูกกระตุ้นจากปัจจัยอื่นให้เค้าลุกขึ้นมาทำร้ายเราตามสัญชาตญาณของการเอาตัวรอด การต่อสู้กับเค้ามีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายบอบช้ำกับทั้งสองฝ่าย และเกิดการผูกกรรมกันต่อไปไม่จบสิ้น แต่ถ้าเรามองออกว่า ศัตรูที่แท้จริงคืออะไร เราจะไม่ต้องเสียเวลาสู้รบไปกับหลายฝ่ายโดยไม่จำเป็น อย่างในกรณีช้างนาฬาคีรี การอาละวาดของช้างมาจากความไม่มีสติและถูกทำให้หวาดกลัว เมื่อช้างรู้สึกสบายใจและปลอดภัย ช้างก็หยุดทำร้ายเรา เช่นกัน หากเรากำลังสู้อยู่กับศัตรูรอบด้านจนรู้สึกเหมือนจะไม่ไหว เราจะอาจจะลองถามตัวเองว่าเรากำลังสู้อยู่กับอะไร เพื่อให้เรารู้ว่าเราจะวางกลยุทธ์ของเราได้ง่ายและมีประสิทธิภาพได้มากขึ้น


บทที่สี่ การรับมือกับองคุลีมาล อดีตบัณฑิตที่ถูกความอิจฉาจากศิษย์ร่วมสำนักและอาจารย์ของตัวเองออกอุบายปั่นหัวให้กลายเป็นนักฆ่าพันศพ พระพุทธเจ้าทรงเข้าไปขัดขวางการฆ่าครั้งที่ 1000 เพราะจะกลายเป็นการมาตุฆาตหรือการฆ่ามารดาของตัวเอง โดยไปขวางทางและแสดงอิทธิฤทธิ์ให้องค์คุลีมาลไล่ตามไม่ทัน และทำให้เกิดประโยคสุดคลาสสิค "เราหยุดแล้ว แต่ท่านยังไม่หยุด" ซึ่งทำให้องคุลีมาลได้สติและกลับใจ

(ถอดรหัส) สิ่งที่เปลี่ยนมนุษย์ให้กลายเป็นปีศาจคือ ความหลงผิด ที่มีที่มาจากความโลภ ความโกรธ ความหลง องคุลีมาลที่ดูเหมือนปีศาจที่จิตใจเหี้ยมโหดเป็นแค่เหยื่อของความอิจฉาจากลูกศิษย์คนอื่น อาจารย์ที่ดูเหมือนปีศาจที่หลอกลูกศิษย์ตัวเองให้กลายเป็นจอมโจรก็เพราะปล่อยใจตัวเองให้หลงเชื่อลูกศิษย์ที่มายุยงปั่นหัว และสิ่งที่ช่วยหยุดยั้งเราเอาไว้ไม่ให้กลายเป็นเหยื่อหรือเบี้ยของปีศาจตนไหน คือ "สติ" ปาฏิหาริย์จากการไล่ตามที่ไม่มีวันทันเหมือนกับเป็นกุศโลบายที่ทำให้องคุลีมาลเหนื่อยและ"หยุด" โหมดของนักฆ่าและเริ่มตั้งคำถาม เมื่อตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองทำนั่นทำให้สติกลับมาตามทันระบบออโต้ไพล็อท(การทำงานอัตโนมัติ)ขององคุลีมาล ใครจะรู้ว่าตอนนี้เราอาจกำลังเป็นเพื่อนร่วมสำนักตัวร้าย เป็นอาจารย์ตัวแสบ หรือองคุลีมาลที่น่าหวาดกลัวโดยไม่รู้ตัวเอง เราอาจจำเป็นต้องหยุดทำในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในตอนนี้ชั่วขณะที่จะถามตัวเองว่า "เรากำลังไล่ล่าอะไรอยู่" "ไล่ล่าไปเพื่ออะไร" และ"เราต้องการสิ่งนี้จริงแค่ไหน" นั่นอาจทำให้เรามองเห็นสิ่งที่ตัวเองกำลังทำได้อย่างชัดเจน และในบางครั้งเราอาจจำเป็นต้องช่วยให้ใครบางคนหยุด เพื่อคืน"มนุษย์"กลับสู่สังคมของเรา


บทที่ห้า นางจิญจมานวิกาถูกส่งตัวจากเจ้านิกายที่ได้รับผลกระทบจากความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เพื่อมาให้ร้ายพระพุทธเจ้าว่าเป็นบิดาของเด็ก(ทิพย์)ในท้อง หวังจะให้ความนิยมหมดไปเพื่อที่ลาภสักการะทั้งหลายจะกลับไปที่นิกายของตัวเอง นางวางแผนเป็นแรมเดือนโดยหลอกผู้คนว่านางเดินทางเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในตอนค่ำก่อนที่จะออกมาในตอนเช้า และตั้งใจให้ผู้คนได้พบเห็นและรับรู้นางพักค้างอ้างแรมอยู่กับพระพุทธองค์ เมื่อนางแกล้งทำเป็นคนท้องและเข้ามากล่าวร้ายจึงมีหลายคนหลงเชื่อ แต่พระพุทธองค์รับมือกับคำใส่ร้ายนี้ด้วยความนิ่งเฉย ไม่ตอบรับ ไม่ปฏิเสธ กล่าวแต่เพียงว่า "เรื่องที่พูดมีเพียงแค่เธอและเราที่รู้" และเชือกที่ผูกท้องปลอมเอาไว้ก็ขาด ทำให้ทุกคนรู้ความจริง

(ถอดรหัส) นางจิญจมาณวิกาวางแผนมาอย่างแยบยล และก็สร้างความหวั่นไหวให้กับพุทธศาสนิกชนไม่น้อย และกลยุทธ์นี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้แค่ครั้งเดียว ถัดจากนางจิญจมาณวิกาก็ยังมีนางสุนทรีที่ถึงนอกจากจะทำเป็นมาพักค้างอ้างแรมแล้วยังถูกลวงไปฆ่าเพื่อโยนความผิดว่าพระพุทธเจ้าท่านเป็นคนทำเพื่อปิดปาก แต่พระพุทธองค์ท่านสงบนิ่งอยู่ได้อย่างไร สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือท่านเชื่อมั่นในความจริงแห่งตนแต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในความมั่นคงนั้นคือ ท่านไม่ได้กระหายในลาภ ยศ สรรเสริญ หรือต้องการการยอมรับจากผู้คน ความทุกข์ร้อนที่ไม่น่าจะทนไหวก็กลายเป็นไม่มี หากเราไม่ปรารถนาให้ใครต้องมาเชื่อ เราก็ไม่เดือดร้อนหากใครจะไม่เชื่อ ชีวิตของเราหลายคนก็คงมีหลายครั้งที่ถูกจัดฉาก หรือถูกทำให้เข้าใจผิดจากความตั้งใจหรือความไม่ตั้งใจของคน แต่ถ้าเรารู้ตัวว่าความจริงของเราคืออะไร และไม่หวั่นไหวต่อสายตาและความคิดเห็นของผู้คน เราก็จะสามารถอยู่ได้อย่างลอยตัวไปจนเวลาที่ความจริงนั้นจะปรากฏออกมาเอง แต่ถ้าความลวงมันกำลังจะทำให้เดือดร้อน อย่างเคสนางสุนทรีที่พระพุทธเจ้าเกือบจะกลายเป็นผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม สิ่งที่ช่วยท่านเอาไว้นอกจากความจริง ก็คือความดีที่ท่านทำอย่างยาวนานจนมีคนที่ทนไม่ไหวออกมาสืบหาความจริงให้ท่านเอง


บทที่หก เมื่อต้องเจอกับคนช่างเถียง สัจจกนิครนถ์ เป็นพราหมณ์ที่มีฝีปากกล้าเเละมีความเชื่อต่อตัวเองว่าเป็นคนที่ไม่มีใครเอาชนะได้ แบบที่เค้าบอกกับตัวเองว่า "เถียงกับหิน หินยังทรุด" วันหนึ่งก็อยากจะเอาชนะพระพุทธเจ้าด้วยการโต้คารมเพราะมีเรื่องที่เห็นไม่ตรงกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน แต่พระองค์ก็เอาชนะได้ด้วยปัญญา ยกตัวอย่างเช่น สัจจกะเชื่อว่าเราเป็นเจ้าของขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงตอบไปด้วยคำถามว่า ถ้าขันธ์ 5 เป็นของเรา ทำไม่เราถึงกำหนดรูปร่างหน้าตาไม่ได้ เราไม่สามารถบังคับเวทนาให้รู้สึกหรือไม่รู้สึกอะไรได้ ไม่อาจกำหนดสัญญาให้จดจำหรือลืมสิ่งใดได้ ไม่อาจควบคุมสังขาร และไม่อาจปิดกั้นการรับรู้ของวิญญาณได้" และความรู้นั้นจึงทำให้สัจจกะยอมจำนน

(ถอดรหัส) โลกนี้ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราจะรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้ทั้งหมด เราอาจพบเจอคนที่เชื่อมั่นในความรู้แห่งตนและรั้นเหมือนสัจจกะอยู่มากมาย และในบางเวลา เราก็อาจเป็นเหมือนสัจจกะโดยไม่รู้ตัว แต่หากเราตระหนักและเคารพในความไม่รู้ เร่งเพียรศึกษาและตั้งมั่นที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ชอบที่ควร (สัมมาทิฎฏิ) เราก็จะเอาชนะความไม่รู้ทั้งปวงได้ในที่สุด


บทที่เจ็ด นันโทปนันทนาคราชหลงผิดในอำนาจแห่งตน และมาขัดขวางทางเข้าออกดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้าและคณะสงฆ์ด้วยความพาล พระพุทธเจ้าจึงส่งพระโมคคัลนะไปเคลียร์ใจด้วยการจำแลงกายเป็นนาคเพื่อเกทับ หากนาคจริงพ่นควัน นาคจำแลงก็พ่นควันมากกว่า หากพ่นไฟใส่มา นาคจำแลงก็จัดให้ชุดใหญ่ไม่แพ้กัน เมื่อนาคพาลสู้ไม่ได้ก็กล่าวด้วยอุบายว่า ทำตัวไม่สมกับเป็นสมณเพศ ทำไมไม่มีเมตตา แล้วก็ลวงให้คืนร่างกลับมาเพื่อจะฆ่าเสีย แต่ก็ยังทำอะไรไม่ได้ จนกลัวและหนีไป แต่พระโมคคัลลานะก็ตามไปเพื่อรีดพิษนาคออกให้หมดเพื่ออันตรายใครต่อไปอีกไม่ได้

(ถอดรหัส) เมื่อเจอคนที่เกินเยียวยาในเวลานั้น ก็จำเป็นต้องจัดการอย่างเหมาะสม เด็ดขาดเพื่อไม่ให้กลายมาเป็นปัญหาในภายหลัง แม้ว่าเราเห็นในหลายๆบทเรื่องของความเมตตา แต่ในบางสถานการณ์หากต้องรับมือกับคนที่ยังไม่สามารถเข้าใจและจัดการตัวเองได้ การจัดการอย่างเด็ดขาดด้วยมาตรการที่เหมาะสมก็จำเป็น ไม่ปล่อยให้มีพิษเหลือ ไม่ให้อำนาจ แต่ยังให้โอกาสที่จะกลับตัวกลับใจ เพื่อวันนึงเมื่อเค้าพร้อมที่จะเรียนรู้ใหม่ เราก็อาจได้เพื่อนร่วมโลกที่ดีกลับคืนมา แต่สิ่งหนึ่งที่ซ่อนอยู่คือ อย่าให้หัวโขนของเรามาเป็นตัวบังคับให้เราต้องไม่ทำในสิ่งที่เราควรทำ เช่นกลัวไม่เหมาะสม หรือไม่ใช่หน้าที่ เพราะหาเรื่องนั้นมาอยู่ตรงหน้าและเรามีความสามารถที่จะจัดการมันได้ด้วยสติและความเมตตา มันก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และการจัดสรรทรัพยากรให้อยู่ถูกที่ถูกเวลาและถูกกับคนก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องพิจารณาให้ดี


บทที่แปด พรหมนามชื่อ พกะ มีความเชื่อว่าตัวเองมีความบริสุทธิ์ รุ่งเรือง มีฤทธิ์มาก และเกิดความเข้าใจผิดว่า สรรพสิ่งเที่ยงแท้ไม่แปรผัน เป็นมาอย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีใครกล้าบอกกล้าสอนเพราะพกะเป็นพรหมผู้ยิ่งใหญ่ วันนึงจึงไปท้าทายพระพุทธเจ้าด้วยการประลองซ่อนหากัน เพื่อที่จะเอาชนะให้ผู้คนได้ยอมรับว่าตนเองมีปัญญาเหนือใคร แต่สุดท้ายพกะพรหมเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เพราะไม่สามารถหาพระพุทธเจ้าที่ซ่อนอยู่ในมวยผมของตนเองเจอ

(ถอดรหัส) ความเชื่อที่หลงผิด ความรั้น และความเย่อหยิ่งคือศัตรูที่สำคัญที่ทำให้เราไปผิดทาง ยิ่งเราเติบโตขึ้นเท่าไหร่ คนที่จะกล้ามาแนะนำสั่งสอนเราก็มีน้อยลงเท่านั้น เหมือนกับพรหมที่ไม่น่าจะมีใครกล้ามาบอกมาสอน ยิ่งเติบใหญ่ยิ่งต้องอ่อนน้อม และไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ยิ่งถ่อมตน ยิ่งเติบโต ยิ่งตัวเล็กเท่าไหร่ ชัยชนะจะยิ่งเข้าถึงง่าย และยิ่งไร้ตัวตนได้ (หมดตัณหา ทิฐิ โลภ โกรธ หลง ) เราจะเอาชนะบอสใหญ่ของชีวิต(ความทุกข์)ได้ไม่ยากเลย


สรุป ส่วนตัวเชื่อว่าบทพาหุงมหากาคือบทสวดที่เตือนให้เรารู้ว่า ความหลงผิด ความอิจฉา ความโกรธ ความกลัว ความเย่อหยิ่งทะนงตน เปลี่ยนคนให้เป็นพาล เป็นมาร เป็นปีศาจร้าย และนำมาซึ่งการเบียดเบียน การใส่ร้าย การไล่ล่า การโต้เถียง และความไม่รู้ตัวตลอดกาล ไม่ว่าเราจะเป็นใคร ยิ่งใหญ่แค่ไหน ถ้าเรายังอยู่ในโลกนี้ เราก็หนีไม่พ้นที่จะพบเจอสิ่งเหล่านี้ อาวุธที่จะช่วยเราได้คือ สติ ปัญญา ความเมตตา และความอ่อนน้อมถ่อมตน จะช่วยให้เราเป็นคนถ่อมตน พร้อมที่จะเรียนรู้ และจัดการทุกอย่างอย่างเหมาะสม จนทำให้เรามองเห็นความจริงและละทิ้งตัวตนอันเป็นต้นเหตและแหล่งรวมของความทุกข์ได้ในที่สุด และอยู่ในโลกนี้ได้ ด้วยใจที่ไม่ระคายต่อเหตุแห่งทุกข์ที่อยู่รอบตัว

40 views0 comments

Recent Posts

See All

Full Moon in Aries

เมื่อเรายกโทษให้ใครหรืออะไรที่ทำให้จิตใจของเราเศร้าหมอง มันไม่ได้หมายความว่าเราอนุญาตให้คนคนนั้นมีความสุขเหมือนที่อีโก้ของเราเฝ้าบอกเราเอาไว้ แต่มันหมายความว่าเราอนุญาตให้เราวางเชือกที่พันธนาการเราไว้

Post: Blog2_Post
bottom of page